ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร สรุปประเด็นที่ต้องรู้และทำความเข้าใจ…..จะมีอะไรบ้าง มาติดตามกันครับ
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป มีข้อมูลสรุปเรื่องการส่งข้อมูลให้สรรพากรตามนี้ครับ
- ข้อมูลทั้งหมดจะรวบรวมแล้วส่งเป็นรายปี โดยดูเป็นรายธนาคาร แต่ละธนาคารไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน
- การส่งข้อมูลจะดูยอดเงินที่เข้าบัญชี โดยดูทุกบัญชีในธนาคารนั้นๆ ซึ่งเงื่อนไขในการส่งข้อมูลมีอยู่ 2 กรณี คือ
- จำนวนครั้งตั้งแต่ 400 ครั้ง และจำนวนเงินถึง 2 ล้านบาท (อันนี้ต้องมาทั้งสองกรณีพร้อมกัน คือ จำนวนครั้งถึง และจำนวนเงินถึงเกณฑ์)
- อีกกรณีหนึ่ง คือ นับแค่จำนวนครั้ง ถ้าถึง 3,000 ครั้งเมื่อไร ถูกส่งทันทีโดยที่ไม่ต้องสนใจจำนวนเงิน
โดยกฎหมายจะเรียกกรณีนี้ว่า “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” และคำว่า “ยอดเงินเข้า” ในทางกฎหมาย คือ “ฝากหรือรับโอนเงิน” นอกจากนั้น คำว่า “ธนาคาร” ยังหมายความถึง ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ผู้ให้บริการ E-wallet ต่างๆ ด้วยครับ
แต่อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องทั้งหมดนี้ มักจะประเด็นสำคัญที่มักเข้าใจผิดอยู่ 3 ข้อ คือ
- คนมักเข้าใจว่าไม่ถูกส่งข้อมูล ไม่ถูกสรรพากรตรวจสอบ แต่ความเป็นจริง คือ การไม่ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากรด้วยกฎหมายนี้ ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกตรวจสอบโดยสรรพากร เพราะยังมีกฎหมายอื่นอีกมากมายให้อำนาจในการตรวจสอบอยู่ดีครับ
- หนีไปรับเงินสดไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะถ้าถูกตรวจสอบได้สรรพากรจะมองเป็นกลุ่มเสี่ยง และมีโอกาสตรวจสอบหนักแน่นอน
- การกระจายบัญชีธนาคารเพื่อไม่ให้ส่งข้อมูลไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะการกระจายข้อมูลนั้นทำให้เรามีโอกาสโดนตรวจสอบจากข้อมูลดอกเบี้ยและอื่นๆ เนื่องจากยังมีกฎหมายเรื่องของดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ยังสามารถทราบข้อมูลบัญชีธนาคารได้อยู่ดีครับ
บางส่วนจากบทความ : “ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร สรุปประเด็นที่ต้องรู้และทำความเข้าใจ” โดย : Tax Bugnoms วารสาร CPD & Account ปีที่ 17 ฉบับที่ 194 เดือนกุมภาพันธ์ 2563