การซื้อ E-Book นั้น ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจริงหรือ? หลายคนที่สงสัยมาพบคำตอบได้
หลายท่านถามว่าการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียนในรูปของดิจิตัลดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเหมือนกรณีการซื้อหนังสือ นิตยสาร ตำราเรียนในลักษณะรูปเล่มหรือไม่ อย่างไร และการตีความของคำว่า “หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน” ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น กรมสรรพากรมีแนวทางการพิจารณาอย่างไร
1.หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Book) หรือ E-book คืออะไร
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง หนังสือหรือเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้อ่านสามารถอ่านผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้
2.หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีความแตกต่างกับหนังสือเล่มอย่างไร
2.1 หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นข้อมูลดิจิตัล ซึ่งเป็นทรัพย์สินไม่มีรูปร่าง ไม่สามารถจับต้องได้ สามารถผลิตจัดจำหน่ายได้โดยไม่มีต้นทุนในการจัดพิมพ์ ทำให้กำหนดราคาได้ค่อนข้างต่ำ ทำได้ง่ายรวดเร็ว ไม่มีขอบเขตจำกัด เช่นการส่งต่อไฟล์ (File Sharing) การอัพโหลด (Upload) บุคคลอื่นมาดาวน์โหลด (Download) ไปใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วเป็นต้น
2.2 สำหรับหนังสือรูปเล่มมีลักษณะเป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ เป็นกระดาษต้องใช้แท่นพิมพ์หรืออุปกรณ์การพิมพ์ จึงมีต้นทุนในการจัดพิมพ์การจัดทำรูปเล่ม ทำให้ราคาหนังสือสูงกว่าการจัดทำในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ การถ่ายเอกสารต้องใช้ระยะเวลาและมีค่าใช้จ่าย
3.ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับหนังสือในแบบรูปเล่มและE-Book
หนังสือในแบบรูปเล่มจัดอยู่ในกลุ่ม “หนังสือพิมพ์” “นิตยสาร” หรือ “ตำราเรียน” ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายหรือนำเข้าหนังสือทุกชนิด เอกสารประกอบการเรียนการสอน ประกอบการศึกษา ถือเป็นตำราเรียน ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แผ่นปลิวโฆษณา รูปลอก มิใช่ตำราเรียน ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ต่อมา กรมสรรพากรพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบัน รูปแบบของการขายหนังสือได้เปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะของรูปเล่ม เป็น รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งหากผู้บริโภคจะมีภาระในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันอาจทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและไม่ส่งเสริมการอ่านให้กับผู้บริโภคได้
ดังนั้นกรมสรรพากรจึงได้กำหนดให้การให้บริการหนังสือพิมพ์นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยทั้งนี้ ตามมาตรา 4 (16) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 585) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558
การขายหนังสือหนังสือพิมพ์นิตยสาร หรือตำราเรียนที่จะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการและได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้นั้นต้องปรากฏว่า (1) ข้อมูลของหนังสือหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ต้องอยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และ(2) ผู้ให้บริการต้องส่งข้อมูลนั้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
บางส่วนจากบทความ “E-book ไม่เสียภาษีมูลเพิ่มจริงหรือ” โดย ดร. เพชรรัตน์ ศุภนิมิตรกุลกิจ วารสารเอกสารภาษีอากร ปีที่ 39 ฉบับที่ 461 เดือนกุมภาพันธ์ 2563